วันพุธที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2561

Smart Cities น่าอิจฉา ตัวอย่างเมืองดีๆ ที่เทคโนโลยีช่วยพัฒนา

Smart City เป็นโครงการที่หลายๆ เมืองทั่วโลก พยายามพัฒนาให้เข้ากับยุค 4.0 โดยการเอาเทคโนโลยีมาผสานกับการใช้ชีวิตของประชาชน ไม่ว่าจะทั้งด้านการขนส่ง การใช้พลังงาน หรือโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะทำให้เมืองที่สะดวกสบายเหมือนในฝัน เกิดขึ้นจริง ทั้งยังทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ดีมีสุขกันด้วย

ถึงแม้ของไทยเราเองจะยังไม่มี Smart City ที่สมบูรณ์เป็นรูปเป็นร่าง แต่หลายๆ จังหวัด หรือมหาวิทยาลัยในบ้านเราตอนนี้ก็กำลังอยู่ในขั้นตอนการพัฒนาอยู่ แต่ระหว่างที่เรารอจะมีเมือง Smart City The MATTER ขอพามารู้จักกับเมืองสมาร์ท ต้นแบบดีๆ ว่าเค้ามีอะไร พัฒนาไปถึงไหน สะดวกสบายต่อชาวเมืองเขาอย่างไร มาให้ทุกคนได้รู้จักกัน



Amsterdam – Netherlands

ประเทศแสนน่าอยู่อย่าง Netherland ก็ไม่พลาดที่จะมีโครงการพัฒนาเมืองให้ทันสมัยเหมือนกัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเมือง Amsterdam ที่ริเริ่มโครงการ Smart City มาตั้งแต่ปี 2009 และมีโปรเจ็กต์มากกว่า 170 อัน ที่มีการพัฒนาร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน ซี่งมีเป้าหมายคือการแก้ปัญหารถติด ประหยัดพลังงาน และพัฒนาสภาพความปลอดภัยของประชาชน

โดยโปรเจ็กต์ที่โดดเด่นของเมืองนี้มีชื่อว่า ‘City-zen’ ที่ต้องการให้เมืองเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดทั้งหมด ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์ ลม ชีวมวล และความร้อนใต้ผืนโลก ทั้งยังต้องการรวมการใช้พลังงานเหล่านี้กับระบบเมือง อาคาร และในการใช้ชีวิตของชาวเมืองด้วย เช่นแผนการจัดเก็บพลังงานแสงอาทิตย์ และยังนำพลังงานส่วนเกินที่ไม่ได้ใช้ไปขายได้ด้วย

Amsterdam ยังมีเป้าหมายในการสร้างเมืองที่มีระบบหมุนเวียน โดยมีโปรเจ็กต์ Circular Amsterdam ที่ต้องการหมุนเวียนเศรษฐกิจของเมือง ทั้งยังรวมถึงการลดของเสียและมลภาวะ ด้วยการรีไซเคิลทรัพยากรกลับมาใช้ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นโครงการการเปลี่ยนน้ำฝนให้การมาเป็นเบียร์ หรือออกแบบวัสดุ ผลิตภัณฑ์เดิมๆ ในรูปแบบใหม่ๆ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ยังมีโปรเจ็กต์อีกมากมายหลายด้าน เช่น ด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี, การศึกษา, การเคลื่อนที่และขนส่ง, และชีวิตความเป็นอยู่ของพลเมือง เป็นต้น ทั้งยังมีความทันสมัย สมกับเป็นเมืองอัจฉริยะ โดยเราสามารถติดตามรายละเอียดของโปรเจ็กต์ต่างๆ รวมถึงผู้ดำเนินงาน เป้าหมาย ติดตามผล และมีส่วนร่วมได้ตลอดผ่านทางเว็ปไซต์ของเมืองด้วย




Barcelona – Spain

Barcelona เมืองนี้ไม่ได้มีดีแค่ทีมฟุตบอล เพราะยังมีโครงการพัฒนาเมืองดีๆ ให้ทันสมัยด้วย โดยเมือง Barcelona ในประเทศสเปนนี้ เค้าตั้งเป้าให้ตัวเองเป็น Digital City ด้วยการใช้ดิจิทัลและเทคโนโลยีมารองรับ ปรับปรุงชีวิตผู้คนในเมืองนี้ โดยเน้นไปที่การลงทุนในโครงสร้างดิจิตอลพื้นฐานสาธารณะ

ความเป็น Digital ของเมือง Barcelona แบ่งออกเป็น 3 ด้าน ด้านแรก คือ Digital transformation ที่จะใช้เทคโนโลยีและข้อมูล ในการบริการประชาชน สร้างความโปร่งใสของรัฐบาล และปลูกฝังการมีส่วนร่วม เช่นการมีช่องทาง ‘Ethical Mailbox’ ที่ให้ประชาชนแจ้ง ร้องเรียนการทุจริตโดยตรง หรือโครงการ ‘Open Budget’ ที่เป็นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลงบประมาณ ตรวจสอบการใช้เงินส่วนรวมของภาครัฐได้ตลอดเวลา

ด้านที่สองคือ Digital Innovation ที่สนับสนุนการใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีเซนเซอร์ที่ใช้ในระบบน้ำของสวนสาธารณะ ซึ่งคอยส่งข้อมูลระดับน้ำที่จะใช้สำหรับต้นไม้และพืชต่างๆ เทคโนโลยีเครือข่ายรถบัส ที่มีการเก็บและวิเคราะห์การเดินรถของรถบัสในแต่ละสาย และแต่ละเส้นทาง เพื่อลดปัญหาจราจร และเทคโนโลยีไฟจราจรอัจฉริยะ ที่เมื่อรถฉุกเฉินเช่น รถพยาบาล หรือรถตำรวจผ่านเส้นทางที่มีไฟจราจร จะเปลี่ยนเป็นไฟเขียวอัตโนมัติเลยด้วย

ด้านสุดท้ายคือ Digital Empowerment ที่จะใช้เทคโนโลยีในการสร้างสังคม และชุมชนที่ดี เช่นการผลักดันการศึกษา เปิดคอร์สการฝึกอบรมเทคโนโลยีและการเผยแพร่โปรแกรม การเปิด Fab Labs บริการสาธารณะที่ให้ประชาชนมาเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของการผลิตแบบดิจิตอล และเทคโนโลยีต่างๆ ทั้งยังมีการเปิดพื้นที่ประชาธิปไตย ให้ประชาชนได้ร่วมเสนอนโยบาย เพื่อให้ภาครัฐได้ทำงานกับประชาชนมากขึ้น




Fujisawa – Japan

เมือง Fujisawa Sustainable Smart Town (Fujisawa SST) ในจังหวัดคานากาวะ เป็นเมืองอัจฉริยะที่ได้รับการร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชนในการสนับสนุนโครงการต่างๆ โดยเมืองนี้มีบ้านทั้งหมด 1,000 หลัง และมีวิสัยทัศน์ของเมือง 100 ปีแรก ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีเทคโนโลยีระดับสูง ที่สามารถปรับใช้ในชีวิตประจำวันของทุกคนได้

บ้านแต่ละหลังในเมืองนี้จะมีหลังคาเป็นแผงโซลาร์เซลล์ พร้อมแบตเตอรีสำรองพลังงานภายในบ้าน และยังส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าใช้ในครัวเรือนเป็นหลัก ซึ่งไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้ แต่ไม่ได้ใช้สอยนั้น จะถูกขายกลับไปให้หน่อยงานผู้ประกอบการด้านไฟฟ้าด้วย ทั้งตามสถานที่สาธารณะ และพื้นที่ส่วนกลางเองก็ยังมีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลเช่นกัน และหากเกิดเหตุแผ่นดินไหว ภัยพิบัติ ก็อซซิล่าบุก หรือถูกตัดไฟขึ้นมา เมืองนี้ก็สามารถผลิตพลังงานใช้เอง และมีแหล่งทรัพยากรสำรองไว้ใช้สอยอย่างต่อเนื่องได้ถึง 3 วันเลยด้วย !!

นอกจากการผลิตไฟใช้เองแล้ว ในการใช้น้ำเขายังกักเก็บน้ำฝนเอาไว้ใช้กันด้วย เช่นใช้รดน้ำต้นไม้ ล้างรถ ล้างห้องน้ำ ทั้งพาหนะของที่นี่จะใช้พลังงานสีขาว เช่นรถยนต์และรถจักรยานไฟฟ้า โดยมีจุดสำหรับชาร์จพลังงานในบ้านแต่ละหลังและตามพื้นที่สาธารณะด้วย เมืองนี้ยังมีเป้าหมายในการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการใช้น้ำ และการใช้พลังงานทดแทน

ความปลอดภัยและความมั่นคงทางทรัพย์สินก็เป็นสิ่งสำคัญของเมืองนี้ โดยได้มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดและระบบรักษาความปลอดภัยไว้ทั่วเมือง และยังมีเป้าหมายในการสร้างสังคมที่มีคุณภาพที่คนในชุมชนมีปฏิสัมพันธ์อันดี และมีความสุขร่วมด้วย





ขอบคุณข้อมูลจาก https://goo.gl/yiaQec

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น